ข้อบังคับสมาคมฯ

ข้อบังคับของสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย

หมวดที่ ๑  ข้อความทั่วไป

ข้อ ๑. ชื่อสมาคม สมาคมนี้เรียกว่า “สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย” มีชื่อในภาษาอังกฤษ คือ “Genetics Society of Thailand” ใช้อักษรย่อ คือ “GST” และคำว่า “สมาคม” ในข้อบังคับนี้เป็นชื่อที่ใช้แทนชื่อเต็มของ “สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย”

ข้อ ๒. ตราของสมาคม มีดังนี้




ความหมาย
๑. ดีเอ็นเอ แทนสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย
๒. ลักษณะการเกี่ยวพัน เป็นเครื่องหมายแทนการพัฒนาของสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย อย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง
๓. ลายกนก แทนความเป็นไทย การอนุรักษ์ศิลปวิทยาและวัฒนธรรมไทย
๔. สีเขียว แทนธรรมชาติและความยั่งยืน
๕. สีเหลืองทอง แทนความเจริญก้าวหน้า ความมั่งคั่งและมั่นคง

ข้อ ๓. การก่อตั้ง สถานที่ตั้ง
       ๓.๑ สมาคมนี้ก่อตั้งขึ้นจากชมรมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๒๑ ณ ห้องประชุมพิณพากย์พิทยาเภท โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร
       ๓.๒ สถานที่ตั้งของสมาคม คือ ตึกพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท   แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ข้อ ๔. วัตถุประสงค์ สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
        ๔.๑ เพื่อเป็นสมาคมทางวิชาการ ไม่เกี่ยวกับการค้าและการเมือง
        ๔.๒ เพื่อพัฒนาการศึกษาทางพันธุศาสตร์ทุกสาขา รวมทั้งส่งเสริมสร้างเจตคติที่ดีต่อการศึกษาวิชานี้
        ๔.๓ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยทางพันธุศาสตร์ทุกสาขา
        ๔.๔ เพื่อส่งเสริมให้บริการและเผยแพร่ความรู้ทางพันธุศาสตร์แก่ประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพของชีวิต
        ๔.๕ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงาน เผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ทางพันธุศาสตร์ระหว่างสมาชิก และผู้สนใจทางพันธุศาสตร์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ


หมวดที่ ๒  สมาชิกภาพ

ข้อ ๕. คุณสมบัติ บุคคลที่จะเป็นสมาชิก ต้องมีคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใด ดังต่อไปนี้
       ๕.๑ บุคคลที่ทำงานและปฎิบัติงานเกี่ยวกับพันธุศาสตร์
       ๕.๒ บุคคลที่สนใจในกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
       ๕.๓ นิสิต นักศึกษา และนักเรียน

ข้อ ๖. ประเภทสมาชิก
        ๖.๑ สมาชิกสามัญ คือ บุคคลที่มีคุณสมบัติใน ข้อ ๕.๑ และ/หรือ ๕.๒ 
        ๖.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์ คือ บุคคลที่คณะกรรมการบริหารเห็นเป็นเอกฉันท์ควรเชิญมาเป็นสมาชิก เพื่อเป็นเกียรติแก่สมาคม
        ๖.๓ สมาชิกอุปถัมภ์ คือ บุคคล หรือ นิติบุคคล ที่สนใจอุปถัมภ์กิจการของสมาคม และคณะกรรมการบริหารเห็นควรเชิญเข้าเป็นสมาชิก
        ๖.๔ อนุสมาชิก คือ บุคคลที่มีคุณสมบัติในข้อ ๕.๓

ข้อ ๗. สิทธิของสมาชิกสามัญ
        ๗.๑ มีสิทธิได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการบริหาร
        ๗.๒ มีสิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง และลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุม
        ๗.๓ มีสิทธิเข้าประชุมทางวิชาการ
        ๗.๔ มีสิทธิได้รับเอกสารต่าง ๆ
        ๗.๕ มีสิทธิส่งเรื่อง บทความ และ/หรือ ผลงานวิจัย ลงในวารสาร และ/หรือ จุลสารพันธุศาสตร์

ข้อ ๘. สิทธิของอนุสมาชิก         
        ๘.๑ มีสิทธิเข้าประชุมทางวิชาการ
        ๘.๒ มีสิทธิได้รับเอกสารต่าง ๆ
        ๘.๓ มีสิทธิส่งเรื่อง บทความ และ/หรือ ผลงานวิจัยลงในวารสาร และ/หรือ จุลสารพันธุศาสตร์

ข้อ ๙. การเข้าเป็นสมาชิก
        ๙.๑ ผู้ประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกสามัญ และอนุสมาชิก ให้ยื่นใบสมัครต่อเลขาธิการของสมาคม โดยมีสมาชิกสามัญรับรอง ๒ ท่าน และต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร
        ๙.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากสมาคม หรือผู้ที่สมาชิกเสนอชื่อพร้อมทั้งประมวลประวัติและผลงานทางวิชาการ ต่อคณะกรรมการบริหาร โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารเป็นเอกฉันท์
        ๙.๓ สมาชิกอุปถัมภ์ ให้คณะกรรมการบริหารเป็นผู้พิจารณาจากผู้ที่อุปถัมภ์กิจการของสมาคม

ข้อ ๑๐. ค่าบำรุงสมาคม
          ๑๐.๑ สมาชิกสามัญ (ตลอดชีพ) เสียค่าบำรุงครั้งเดียว ๑,๒๐๐ บาท
          ๑๐.๒ สมาชิกสามัญเสียค่าบำรุงคนละ ๔๐๐ บาท ต่อ ๒ ปี
          ๑๐.๓ อนุสมาชิก เสียค่าบำรุงคนละ ๒๐๐ บาท ต่อ ๒ ปี      

ข้อ ๑๑. การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกของสมาคมจะขาดจากสมาชิกภาพ เมื่อ
          ๑๑.๑ ตาย
          ๑๑.๒ ลาออกเป็นลายลักษณ์อักษร
          ๑๑.๓ กระทำเสื่อมเสีย หรือไม่เคารพต่อข้อบังคับของสมาคม โดยที่ประชุมใหญ่สามัญ หรือประชุมใหญ่ วิสามัญ ลงมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ โดยมตินั้นต้องมีเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่เข้าประชุม
          ๑๑.๔ สมาชิกสามัญและอนุสมาชิกที่ขาดการชำระค่าบำรุงเพื่อต่ออายุสมาชิกเป็นเวลา ๒ ปี

หมวดที่ ๓  การประชุม

ข้อ ๑๒. การประชุมสมาชิก
         ๑๒.๑ ให้มีการประชุมสมาชิกประมาณปีละ ๑ ครั้ง เรียกว่า “ประชุมใหญ่สามัญ” เพื่อให้คณะกรรมการบริหารแถลงผลงานที่ได้ดำเนินการมาแล้ว และทำการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ดังที่ได้ระบุไว้ในข้อ ๑๕  ส่วนการประชุมครั้งอื่นเรียกว่า “ประชุมใหญ่วิสามัญ” ซึ่งจะมีขึ้นเมื่อคณะกรรมการบริหารหรือสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า ๕๐ ท่าน เห็นว่ามีเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องขอมติจากที่ประชุม
          ๑๒.๒ การประชุม ต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย ๑๕ วัน พร้อมด้วยวาระการประชุม
          ๑๒.๓ องค์ประชุม ต้องกอปรด้วยสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๔ ของสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า  ๕๐ ท่าน ถ้าสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม ให้นัดประชุมเป็นครั้งที่ ๒ ภายใน ๓๐ วัน โดยแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน ถ้าสมาชิกยังไม่ครบองค์ประชุมอีก ให้ถือว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมที่ถูกต้อง
          ๑๒.๔ มติที่ประชุม ในการประชุมและลงมติทุกครั้ง ให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานเป็นผู้ชี้ขาด
          ๑๒.๕ ให้นายกสมาคมเป็นประธานของที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อยู่ ให้อุปนายกทำหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกสมาคมและอุปนายกไม่อยู่ ให้ที่ประชุมเลือกสมาชิกผู้หนึ่งผู้ใดขึ้นเป็นประธานที่ประชุม
          ๑๒.๖ การเรียกประชุม ให้เลขาธิการ ด้วยความเห็นชอบของนายกสมาคม หรือผู้ปฎิบัติหน้าที่แทน เป็นผู้ดำเนินการเรียกประชุม

ข้อ ๑๓. การประชุมทางวิชาการ
         ๑๓.๑ ให้มีการประชุมทางวิชาการ รวมทั้ง ๓ สาขา คือ พันธุศาสตร์พื้นฐาน มนุษยพันธุศาสตร์  และพันธุศาสตร์เกษตร ประมาณสองปีต่อครั้ง ในช่วงระยะเวลาเดียวกับการประชุมใหญ่สามัญ
         ๑๓.๒  การประชุมทางวิชาการอื่น ๆ นอกเหนือจาก ข้อ ๑๓.๑ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารเห็นสมควร


หมวดที่ ๔  การบริหารสมาคม

 ข้อ ๑๔. คณะกรรมการบริหาร
          ให้มีคณะกรรมการบริหารสมาคมประกอบด้วย นายกสมาคม อุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก นาย ทะเบียน สาราณียกร ประชาสัมพันธ์ ประธานสาขาพันธุศาสตร์พื้นฐาน  ประธานสาขามนุษยพันธุศาสตร์ ประธานสาขาพันธุศาสตร์เกษตร ประธานเครือข่ายต่าง ๆ และกรรมการอื่น ๆ จากสมาชิกสามัญของสมาคม รวมทั้งหมดไม่เกิน ๔๐ ท่าน

ข้อ ๑๕. การเลือกตั้งกรรมการบริหาร
         ให้ที่ประชุมสามัญดำเนินการเลือกตั้งนายกสมาคม โดยให้สมาชิกเป็นผู้เสนอชื่อและมีสมาชิกเป็นผู้รับรองตำแหน่งอย่างน้อย ๕ ท่าน ทั้งนี้นายกสมาคม จะต้องเป็นผู้ที่เคยได้รับตำแหน่งนายก อุปนายก หรือเลขาธิการสมาคมมาก่อน และต้องได้รับมติเป็นเสียงข้างมากของสมาชิกที่เข้าประชุม ให้นายกเสนออุปนายก และเลขาธิการต่อที่ประชุม จากกรรมการผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร อย่างน้อย ๑ วาระ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสมาคมฯ อย่างสม่ำเสมอ และให้กรรมการที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมเลือกกรรมการอื่นๆ ให้ครบจำนวน ตามข้อ ๑๔

ข้อ ๑๖. การประชุมคณะกรรมการบริหาร
         ๑๖.๑ ให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารปีหนึ่งไม่น้อยกว่า ๓ ครั้ง
         ๑๖.๒ การนัดประชุมต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย ๗ วัน
         ๑๖.๓ ต้องมีกรรมการบริหารเข้าประชุมไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๔ จึงถือว่าครบองค์ประชุม
         ๑๖.๔ การลงมติ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานของที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๑๗. การตั้งที่ปรึกษา อนุกรรมการและคณะทำงานเฉพาะกิจ
          คณะกรรมการบริหาร อาจตั้งที่ปรึกษาของสมาคม อนุกรรมการ และ/หรือ คณะทำงานเฉพาะกิจตาม
 ความเหมาะสม

ข้อ ๑๘. การพ้นจากตำแหน่ง กรรมการบริหารย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
         ๑๘.๑ ตาย
         ๑๘.๒ ลาออกเป็นลายลักษณ์อักษร
         ๑๘.๓ สมาชิกในที่ประชุมใหญ่สามัญ หรือ ประชุมใหญ่วิสามัญ จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ลงมติไม่ไว้วางใจ
         ๑๘.๔ ขาดจากสมาชิกภาพของสมาคม
         ๑๘.๕ ออกตามวาระที่กำหนดในข้อ ๑๙.๒
ข้อ ๑๙. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร
         ๑๙.๑ คณะกรรมการบริหาร มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการบริหาร ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม และรวมไปถึงภารกิจอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสมาคม
         ๑๙.๒  ให้คณะกรรมการบริหารดำรงตำแหน่งอยู่ได้คราวละ ๒ ปี หรือจนกว่าจะมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ทำหน้าที่แทน ถ้าตำแหน่งกรรมการบริหารที่มาจากการเลือกตั้งว่างลงก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง และอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทน
         ๑๙.๓ คณะกรรมการบริหารมีอำนาจออกระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้การบริหารงานของสมาคม ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
         ๑๙.๔  คณะกรรมการบริหารมีอำนาจจ้าง และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสมาคมชั่วคราวหรือประจำ ทำงานได้ตามความเหมาะสม
         ๑๙.๕  การเงินของสมาคม เงินสดของสมาคม ถ้ามีให้นำไปฝากธนาคารใดธนาคารหนึ่ง การสั่งจ่ายเงินในใบสั่งจ่ายธนาคาร ต้องมีลายเซ็นนายกสมาคมและเหรัญญิก และ/หรือ กรรมการผู้รักษาการแทนลงนามอย่างน้อย ๒ ท่าน และให้เหรัญญิกมีอำนาจจ่ายเงินของสมาคมได้ในวงเงินไม่เกินคราวละ ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) หากเกินจำนวนนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหาร ให้คณะกรรมการเสนอชื่อผู้ตรวจบัญชี เพื่อขอแต่งตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญทุก ๒ ปี และให้ถือวันที่ ๓๑ ธันวาคม เป็นวันสิ้นสุดการชำระบัญชีประจำปี

หมวดที่ ๕  อื่นๆ

ข้อ ๒๐. การเลิกสมาคม การเลิกสมาคมทำได้ โดย
         ๒๐.๑ ได้รับมติเป็นลายลักษณ์อักษรจากสมาชิกสามัญเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดให้เลิกสมาคม และให้จัดการชำระบัญชี หากมีทรัพย์สินเหลืออยู่ให้ตกเป็นของสภากาชาดไทย

ข้อ ๒๑. การแก้ไขข้อบังคับของสมาคม
         การแก้ไขข้อบังคับของสมาคม จะกระทำได้โดยมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมอย่างน้อย ๕๐ คน และต้องมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มาประชุม และต้องแจ้งส่วนที่ต้องการแก้ไขเป็นลายลักษณ์อักษรให้สมาชิกทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย ๒๑ วัน ก่อนมีการลงมติ

ข้อ ๒๒. ให้ใช้ข้อบังคับนี้ตั้งแต่ วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เป็นต้นไป                   
          ข้อบังคับนี้ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๖๐ ของสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐

 

 

                                                                                          ผู้จัดทำ
                                                                         นายกสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้