บทบาทหน้าที่ของที่ปรึกษา และกรรมการบริหารสมาคมฯ

ที่ปรึกษาสมาคมฯ

     ที่ปรึกษาสมาคมฯ เป็นผู้ซึ่งอดีตเคยเป็นนายกสมาคมฯ หรือกรรมการบริหารสมาคมฯ มีความรู้และประสบการณ์ด้านพันธุศาสตร์ และการบริหารจัดการสมาคมฯ หรือผู้ที่ไม่เคยเป็นกรรมการบริหารสมาคมฯ แต่เป็นผู้ที่มีผลงานวิชาการหรือผลงานการประยุกต์ด้านพันธุศาสตร์ มีความโดดเด่นเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศเป็นที่ประจักษ์ และเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการ มีความเต็มใจและยินดีที่จะรับเป็นที่ปรึกษาของสมาคมฯ และได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมฯ

บทบาทหน้าที่ของที่ปรึกษาสมาคมฯ มีดังนี้

  1. ให้คำปรึกษา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะแก่นายกสมาคมฯ กรรมการบริหารสมาคมฯ และกรรมการเครือข่ายสมาคมฯ
  2. ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดกิจกรรมของสมาคมฯ
  3. ร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหาร หรือคณะกรรมการชุดต่างๆ ของสมาคมฯ ตามวาระโอกาส
  4. ร่วมประชุม/สัมมนาวิชาการของสมาคมฯ และเครือข่ายของสมาคมฯ ตามวาระโอกาส
  5. ร่วมประชุมสามัญของสมาคมฯ ตามวาระโอกาส
  6. แนะนำและประชาสัมพันธ์เกียรติประวัติ กิจกรรม ผลงานและภาพลักษณ์ที่ดีงามของสมาคมฯ ต่อสาธารณะ

 

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการ
     กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการ เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ทางวิชาการ งานวิจัย หรือการปฏิบัติงานทางด้านพันธุศาสตร์หรือศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยยังคงปฎิบัติงานอย่างแข็งขันและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ยินดีจะร่วมงานและให้ความช่วยทางด้านวิชาการแก่สมาคมฯ โดยไม่จำเป็นจะต้องเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการเครือข่าย หรือคณะกรรมการชุดต่างๆ ของสมาคมฯ  การทำงานของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการ มีลักษณะจิตอาสา ไม่มีเงินเดือน ค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์ตอบแทนในเชิงทรัพย์สิน

บทบาทหน้าที่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการ มีดังนี้

  1. ช่วยเขียนบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่และให้ความรู้ทางพันธุศาสตร์หรือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องแก่สมาชิกและสาธารณะ
  2. ช่วยอ่านพิจารณาและประเมินบทความวิชาการที่ส่งผลงานมาตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมฯ และบทความวิชาการที่จะนำเสนอในการประชุมวิชาการพันธุศาสตร์แห่งชาติ (ซึ่งจัดทุกๆ 2 ปี) หรือการประชุมวิชาการอื่นๆ ของสมาคมฯ
  3. ให้ข้อมูล คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ คำปรึกษา และความคิดเห็น ด้านวิชาการ เมื่อสมาคมฯ ร้องขอ
  4. ให้การสนับสนุนการบริหารจัดการ การดำเนินงาน และกิจกรรมของสมาคมฯ กรรมการเครือข่ายสมาคม และคณะทำงานของสมาคมฯ
  5. ประชาสัมพันธ์เกียรติประวัติ กิจกรรม ผลงาน และภาพลักษณ์ที่ดีงามของสมาคมฯ ต่อสาธารณะ

กรรมการบริหารสมาคมฯ
     กรรมการบริหารสมาคมฯ ทำหน้าที่บริหารสมาคมฯ แทนสมาชิกของสมาคมฯ กรรมการบริหารสมาคมฯ ได้แก่ นายกสมาคมฯ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อและลงมติจากที่ประชุมสามัญของสมาคมฯ อุปนายกสมาคมฯ เลขาธิการสมาคมฯ และกรรมการสมาคมฯ ตำแหน่งต่างๆ ซึ่งได้รับการเสนอและแต่งตั้งจากนายกสมาคมฯ มีวาระครั้งละ 2 ปี  กรรมการบริหารสมาคมฯ มาจากสมาชิกของสมาคมฯ ผู้ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านพันธุศาสตร์ มีความเสียสละ สนใจ และเต็มใจที่จะทำงานให้แก่สมาคมฯ สมาชิก และเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคมและประเทศ  การทำงานของกรรมการบริหารสมาคมฯ มีลักษณะจิตอาสา ไม่มีเงินเดือน เบี้ยประชุม หรือผลประโยชน์ตอบแทนในเชิงทรัพย์สิน

บทบาทหน้าที่ของกรรมการบริหารสมาคมฯ มีดังนี้

  1. บริหารจัดการสมาคมฯ ตามระเบียบข้อบังคับและพันธกิจของสมาคมฯ ตามมติของที่ประชุมใหญ่สามัญของสมาคมฯ และตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ
  2. เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ตามวันเวลาที่นัดหมายและระเบียบวาระการประชุม
  3. ให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะแก่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ
  4. เป็นที่ปรึกษา ประธานหรือกรรมการในเครือข่ายสมาคมฯ หรือคณะทำงานของสมาคมฯ
  5. ดำเนินงานและกิจกรรมตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ
  6. ให้การสนับสนุนการดำเนินงานและกิจกรรมของกรรมการบริหารสมาคมฯ กรรมการเครือข่ายสมาคมฯ และคณะทำงานของสมาคมฯ
  7. ประสานงานระหว่างกรรมการบริหารสมาคมฯ และบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรภายนอก
  8. เป็นผู้แทนสมาคมฯ ในการติดต่อ ประสานงาน หรือร่วมกิจกรรมกับบุคคล หน่วยงานหรือองค์กรภายนอก ตามที่ได้รับมอบหมายจากสมาคมฯ
  9. ประชาสัมพันธ์เกียรติประวัติ กิจกรรม ผลงาน และภาพลักษณ์ที่ดีงามของสมาคมฯ ต่อสาธารณะ

กรรมการผู้ช่วย
     กรรมการผู้ช่วย เป็นผู้มีคุณวุฒิการศึกษาด้านพันธุศาสตร์ หรือเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านพันธุศาสตร์หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง มีความสนใจที่จะร่วมงานกับสมาคมฯ มีความเสียสละและเต็มใจที่จะทำงานให้แก่สมาคมฯ สมาชิก และเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคมและประเทศ  การทำงานของกรรมการผู้ช่วย มีลักษณะจิตอาสา ไม่มีเงินเดือน เบี้ยประชุม หรือผลประโยชน์ตอบแทนในเชิงทรัพย์สิน

บทบาทหน้าที่ของกรรมการผู้ช่วย มีดังนี้

  1. ช่วยกรรมการบริหารสมาคมฯ บริหารจัดการสมาคมฯ ตามระเบียบข้อบังคับและพันธกิจของสมาคมฯ ตามมติของที่ประชุมใหญ่สามัญของสมาคมฯ และตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ
  2. เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ตามวันเวลาที่นัดหมายและระเบียบวาระ หรือเข้าร่วมประชุมแทนกรรมการบริหารสมาคมฯ
  3. ให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะแก่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ
  4. เป็นกรรมการเครือข่ายหรือคณะทำงานของสมาคมฯ
  5. ดำเนินงานและกิจกรรมตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ
  6. ให้การสนับสนุนการดำเนินงานและกิจกรรมของกรรมการบริหารสมาคมฯ กรรมการเครือข่ายสมาคมฯ และคณะทำงานของสมาคมฯ
  7. เป็นผู้แทนกรรมการสมาคมฯ ในการติดต่อ ประสานงาน หรือร่วมกิจกรรมกับบุคคล หน่วยงานหรือองค์กรภายนอก ตามที่ได้รับมอบหมายจากกรรมการสมาคมฯ
  8. ประชาสัมพันธ์เกียรติประวัติ กิจกรรม ผลงาน และภาพลักษณ์ที่ดีงามของสมาคมฯ ต่อสาธารณะ


กรรมการเครือข่ายของสมาคมฯ
     สมาคมฯ มีรูปแบบการบริหารจัดการและการดำเนินงานในรูปแบบเครือข่ายวิชาการ โดยมีกรรมการสมาคมฯ ผู้มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และมีความสนใจในวิชาการสาขานั้นๆ เป็นประธาน และมีกรรมการเครือข่ายฯ ทั้งจากกรรมการสมาคมฯ และบุคคลภายนอกร่วมด้วย

บทบาทหน้าที่ของกรรมการเครือข่ายของสมาคมฯ มีดังนี้
  1. ร่วมประชุมคณะกรรมการเครือข่ายของสมาคมฯ ตามกำหนดวาระ
  2. บริหารจัดการ ดำเนินงานและจัดกิจกรรมทางวิชาการของเครือข่ายสมาคมฯ
  3. แสวงหาและรวบรวมผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางวิชาการ ตรงต่อสาขาของเครือข่าย มาเป็นกรรมการหรือสมาชิกเครือข่าย
  4. ช่วยเขียนบทความวิชาการ เพื่อตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมฯ
  5. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิช่วยพิจารณาบทความวิชาการของผู้ส่งผลงานมาตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมฯ และบทความวิชาการที่ส่งมานำเสนอในการประชุมวิชาการพันธุศาสตร์แห่งชาติ (ซึ่งจัดทุกๆ 2 ปี) หรือการประชุมวิชาการอื่นๆ ของสมาคมฯ
  6. เขียนบทความเพื่อเผยแพร่และให้ความรู้ทางพันธุศาสตร์หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง ต่อสาธารณะ
  7. สรุปกิจกรรมของเครือข่ายเพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ


กรรมการเครือข่ายสาขาสมาคมฯ ในภูมิภาค
     สมาคมฯ ได้ขยายการดำเนินงานและกิจกรรมของสมาคมฯ ให้กว้างขวางมากขึ้น จึงได้จัดตั้งกรรมการเครือข่ายสาขาสมาคมฯ ในภูมิภาค โดยมีบทบาทและหน้าที่ประสานงานให้แก่สมาคมฯ ในภูมิภาคนั้นๆ เชิญชวนและรวบรวมอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และผู้มีประสบการณ์ทางด้านพันธุศาสตร์และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเป็นกรรมการหรือสมาชิกเครือข่าย

บทบาทหน้าที่ของกรรมการเครือข่ายสาขาสมาคมฯ ในภูมิภาค มีดังนี้
  1. แสวงหาและรวบรวมผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญทางด้านพันธุศาสตร์หรือศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง มาเป็นกรรมการหรือสมาชิกเครือข่ายฯ
  2. ร่วมประชุมคณะกรรมการเครือข่ายสาขาสมาคมฯ ในภูมิภาค ตามกำหนดและวาระ
  3. ร่วมบริหารจัดการเครือข่ายสาขาสมาคมฯ ในภูมิภาค ในการดำเนินงานและจัดกิจกรรมทางวิชาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกเครือข่าย สมาชิกของสมาคมฯ วงการวิชาการและสังคม
  4. ดำเนินงานจัดกิจกรรมฝึกอบรม ถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านพันธุศาสตร์และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
  5. ช่วยเขียนบทความวิชาการ เพื่อตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมฯ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณะ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิช่วยพิจารณาบทความที่ส่งมาตีพิมในวารสารสมาคมฯ หรือบทความที่ส่งมานำเสนอในการประชุมวิชาการของสมาคมฯ
  6. สรุปกิจกรรมของเครือข่ายสาขาสมาคมฯ ในภูมิภาค เพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ
  7. ให้การสนับสนุนการดำเนินงานและกิจกรรมของกรรมการสมาคมฯ กรรมการเครือข่ายและคณะทำงานของสมาคมฯ
  8. เป็นผู้แทนกรรมการสมาคมฯ ในการติดต่อ ประสานงาน หรือร่วมกิจกรรมกับบุคคล หน่วยงานหรือองค์กรภายนอก ตามที่ได้รับมอบหมายจากสมาคมฯ
  9. ประชาสัมพันธ์เกียรติประวัติ กิจกรรม ผลงาน และภาพลักษณ์ที่ดีงามของสมาคมฯ ต่อสาธารณะ
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้