ประวัติสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย

         มาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย กำเนิดขึ้นเมื่อมหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “พันธุศาสตร์กับการพัฒนาประเทศ” ณ ห้องประชุมพิณพากย์พิทยาเภท ตึก 72 ปี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2521 โดยมี ศ.พญ. คุณสุภา ณ นคร สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นประธานในการสัมมนาครั้งนี้ คณะผู้จัดสัมมนาได้เชิญคณาจารย์ผู้สอนวิชาพันธุศาสตร์ในมหาวิทยาลัยและนักพันธุศาสตร์จากสถาบันและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 50 ท่าน มาแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ด้านพันธุศาสตร์ในทุกสาขา และการนำความรู้ด้านพันธุศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาประเทศ เมื่อเสร็จสิ้นการสัมมนาผู้เข้าสัมมนาได้ร่วมกันจัดตั้งชมรมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2521 โดยมีมติให้ ศ.พญ. คุณสุภา ณ นคร เป็นประธานชมรมท่านแรก ศ.พญ. คุณหญิงสุดสาคร ตู้จินดา เป็นเหรัญญิก มีคณาจารย์และนักพันธุศาสตร์หลายท่านเป็นกรรมการ ศ.พญ. คุณสุภา ณ นคร เป็นประธานชมรม ในระหว่างปี พ.ศ. 2521-2523 ต่อมา รศ. อาภรณ์รัตน์ รัตนทารส ภาควิชาพฤษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานชมรมสองวาระในระหว่างปี พ.ศ. 2523-2525 และปี พ.ศ. 2526-2527 
 
 

  
          มรมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินงานมาระยะหนึ่ง จึงมีการจัดตั้งสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทยขึ้น โดย ผศ.พญ. อรศรี รมยะนันทน์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งต่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินการจัดตั้งเป็นสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2527 และได้จดทะเบียนเลขลำดับที่ จ. 2165 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2528 โดยมี ศ.ดร. สุมินทร์ สมุทคุปติ์ เป็นนายกสมาคมฯ ท่านแรก โดยที่ทำการสมาคมฯ ตั้งอยู่ ณ ตึกพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
  

           มาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นสมาคมวิชาการ มีกิจกรรมหลักด้านวิชาการ คือ การจัดสัมมนาพันธุศาสตร์แห่งชาติ ทุกๆ 2 ปี โดยมีมหาวิทยาลัยผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพร่วมกับสมาคมฯ การจัดประชุมเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านพันธุศาสตร์ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดสัมมนาพิเศษ การจัดประชุมวิชาการของเครือข่ายในสมาคมฯ การฝึกอบรมความรู้ด้านพันธุศาสตร์แก่ครูและอาจารย์ผู้สอนวิชาชีววิทยาในโรงเรียนระดับประถมจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย การจัดพิมพ์หนังสือด้านพันธุศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง การจัดทำวารสาร Thai Journal of Genetics ซึ่งเป็นวารสารวิชาการที่เป็นทางการของสมาคมฯ ในปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกกระจายอยู่ทั่วประเทศ มากกว่า 700 คน
          สมาชิกของสมาคมฯ ได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญของสมาคมฯ ได้รับสิทธิ์ในการสมัครและได้รับการพิจารณาเป็นกรรมการเครือข่ายทางวิชาการ โดยต่อไปอาจจะได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้รับสิทธิ์ในการแจ้งข่าวสารและการเข้าร่วมกิจกรรมที่สมาคมฯ จัดขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิ์ลดหย่อนค่าลงทะเบียนในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของสมาคมฯ

 
 
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้