สาส์นจากที่ปรึกษาสมาคมฯ

 "สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน"
 
นายพรชัย  จุฑามาศ
เจ้าหน้าที่งานในพระองค์(นักวิชาการเกษตร)ระดับ 10
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเดีจพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ที่ปรึกษาสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย


 
         โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบทอดการอนุรักษ์ทรัพยากรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ( รัชกาลที่ 9 ) คือการที่ทรงรักษาฐานทรัพยากรของประเทศ นำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง ทั้งทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมภูมิปัญญา เป็นเรื่องภูมิสังคม ที่มีทรัพยากรกายภาพ ดิน น้ำ พลังงาน แสง สภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้เกิดทรัพยากรชีวภาพ พืชสัตว์ จุลินทรีย์ เห็ด และทรัพยากรวัฒนธรรมภูมิปัญญา ในเรื่องวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย กินอะไร ใช้อะไร เกิดภูมิปัญญากำกับทรัพยากรในเรื่องอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอย ยารักษาโรค ที่เป็นฐานประเทศที่พวกเรามองข้าม ฐานทรัพยากรเป็นฐานล่างสุด ก่อนจะนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงคือการพึ่งตนเอง จำเป็นต้องมีฐานทรัพยากร และเราต้องเป็นเจ้าของสิทธิ์ในทรัพยากรนั้นๆ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงอนุรักษ์ต้นยางนาในปี 2503 ก่อนที่ใครจะรู้จักคำว่าความหลากหลายทางชีวภาพและโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เชื่อว่าได้พระราชทานให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำเนินการในเรื่องนี้ เมื่อประเทศไทยไปลงนามเห็นชอบในอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ ในการประชุม Earth Summit ที่กรุงริโอ เดอ เจนนาโร ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2535 ปลายเดือนมิถุนายน 2535 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงมีรับสั่งกับนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง ในขณะนั้น ให้อนุรักษ์พืชพรรณของประเทศและดำเนินการเป็นธนาคารพืชพรรณ ซึ่งได้พระราชดำริ พระราชทานแนวทาง พระราโชวาท พระราชดำรัส พระราชวินิจฉัยในการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มาโดยตลอด ทรงบรรยายในวาระต่างๆ เช่น พระราโชวาทบางตอน เนื่องในงานประชุมสภาสหภาพอนุรักษ์สากล (IUCN) ครั้งที่ 4  วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติบาเซโลนา นครบาเซโลนา ประเทศสเปน

        “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิผล มีความสำคัญต่อการลดความยากจนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กระนั้นเรายังประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ทำให้สูญเสียชีวิต ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมาก เรายังเห็นการเติบโตที่ไม่ยั่งยืนทั้งในเมืองและในชนบท อีกทั้งความยากจนก็ยังคงเป็นปัญหาของโลก ดังนั้น เราจึงต้องพยายามมากขึ้นโดยเน้นการพัฒนาแบบองค์รวม เพื่อให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์ ข้าพเจ้าได้เคยเห็นวิธีการต่างๆ  ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในช่วง 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่มองพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพียงแค่งานพัฒนาหรือพัฒนาชนบท แท้ที่จริงแล้ว ทรงเห็นเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเป็นกุญแจของการพัฒนาอย่างยั่งยืน”   อีกทั้งพระราชทานพระราชดำรัสในการประชุมวิชาการนิทรรศการ “ทรัพยากรไทย” ทุกปีเว้นปี ที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2544  โดยที่ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 นี้ จะเสด็จฯ เป็นองค์ประธานทรงเปิดการประชุมวิชาการนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : ชาวบ้านไทยได้ประโยชน์  จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2562  ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
        โดยที่พันธุศาสตร์ เป็นอีกสาขาหนึ่งของชีววิทยาศึกษาเกี่ยวกับยีน การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต พันธุศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ ด้านเกษตรกรรม พันธุศาสตร์มีประโยชน์ในการคัดเลือก-ปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ ด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ตลอดจนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธุวิศวกรรมพืชเพื่อสิ่งแวดล้อม  ผลิตพืชต้านทางแมลงศัตรูพืชเพื่อลดการใช้สารเคมี สร้างพืชกำจัดสารพิษ ที่สามารถดูดสารพิษมากักเก็บไว้ ทนทานต่อสภาวะที่ไม่เหมาะสม เช่น ทนเค็ม ทนแล้ง และช่วงปี พ.ศ.2543–2563 ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้มีลักษณะที่ต้องการหลายประการในพืชชนิดเดียว เช่น ต้านทานทั้งแมลงและสารกำจัดวัชพืช รวมไปถึงเรื่องเวชภัณฑ์ปัจจุบัน ทั่วโลกมีการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ.2546–2549 เพิ่มขึ้นเกือบ 20% จากการรวบรวมข้อมูลจาก 63 ประเทศพบว่ามีงานวิจัยด้านพันธุวิศวกรรมในพืชอาหารและพืชเส้นใย ทั้งอยู่ในระหว่างการทดลองและมีจำหน่ายทั้งสิ้น 57 ชนิด ประเทศที่เป็นผู้นำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อเมริกา อาร์เจนตินา จีน แคนาดา บราซิล ประเทศที่มีงานวิจัยก้าวหน้ามากได้แก่ ออสเตรเลีย ยุโรบ ตะวันตก เม็กซิโก แอฟริกาใต้ ประเทศที่น่าจับตามอง คืออินโดนีเซีย อียิปต์และอินเดีย  สำหรับประเทศไทยมีงานวิจัยพัฒนาพันธุวิศวกรรมในพืชหลายชนิด เช่นมะละกอต้านทานโรคจุดวงแหวน มะเขือเทศต้านทานโรคใบหงิกเหลือง แต่งานวิจัยยังไม่สามารถพัฒนาไปจนสำเร็จลุล่วงเนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่สามารถทดสอบพืชดัดแปลงในภาคสนามมาตั้งแต่ปี 2544
         การศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ปัจจุบันความรู้และเทคโนโลยีด้านพันธุศาสตร์มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการวิเคราะห์จีโนม  เทคโนโลยีด้านชีวสารสนเทศ และเทคโนโลยีด้านอณูชีววิทยา ทำให้สามารถวิเคราะห์จีโนมของสิ่งมีชีวิตและศึกษาบทบาทหน้าที่ของยีน อาร์เอ็นเอและโปรตีน ตลอดจนการศึกษาปฏิสัมพันธ์ของชีวโมเลกุลภายในและภายนอกเซลล์ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง มีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาความรู้ของผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น นอกจากนี้ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยก็เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างงานวิจัยที่มีขนาดใหญ่ และสร้างองค์ความรู้ที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้  
        ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสในพิธีเปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 5 เรื่องวิวัฒนาการของพันธุศาสตร์และผลกระทบต่อโลก ณ โรงแรมแชงกรีลา ในส่วนงาน วิจัยทางพันธุศาสตร์ที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ดังนี้  "ความรู้ต่างๆ เหล่านั้น แม้จะมีประโยชน์มากก็ จริง แต่ถ้าใช้ไม่ถูกเรื่องถูกทางโดยไม่พิจารณาให้ดีให้รอบคอบแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายแก่ชีวิต ความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงได้เช่นกัน เหตุนี้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา จำเป็นจะต้องศึกษาให้รู้เท่าและรู้ทัน"  
        เป็นที่น่าสนใจว่าประเทศไทยจะมีนโยบายและกลยุทธ์เกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมในทิศทางใด จึงจะก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันได้ ขณะนี้กำลังดำเนินการร่าง พรบ.ความหลากหลายทางชีวภาพ และกำหนดมีหมวดว่าด้วยผลกระทบความหลากหลายทางชีวภาพ คือเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ   
        ตามนโยบายรัฐบาล ในเรื่องประเทศไทย 4.0 ที่มี  BioEconomy  Creative Economy Green Economy และ Digital Economy ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งในทัศนะของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ความมั่นคงนั้น คือความมั่นคงทางทรัพยากร ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรวัฒนธรรมภูมิปัญญา และทรัพยากรนั้นเราเป็นเจ้าของสิทธิ  ที่เราต้องรู้ว่ามีทรัพยากรอะไร อยู่ที่ไหน จำนวนเท่าไร สามารถบริหารจัดการทรัพยากรนั้นๆได้ เป็นความมั่นคงทางทรัพยากร  ความมั่งคั่ง มีรายได้จากการนำทรัพยากรที่มีภูมิปัญญากำกับในการใช้ประโยชน์ นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดรายได้ ส่วนความยั่งยืนนั้น เราต้องทราบปริมาณจำนวนของทรัพยากร ปลูกได้ขยายพันธุ์ได้ มิใช่นำมาจากป่าเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญในเรื่องนโยบาย เรื่องของบุคลากร ที่ยั่งยืนมีการสืบทอด   ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมาพิจารณาร่วมกัน เลือกพืชหรือทรัพยากรที่มีจุดเด่น มีศักยภาพ  มีข้อมูลการศึกษาวิจัย ลำดับความสำคัญ มีการศึกษาวิจัยพื้นฐานหรือการวิจัยต่อยอด ที่ดำเนินการไปพร้อมๆ กัน นำไปสู่การอนุรักษ์พัฒนาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ จะมีความสัมพันธ์กับเรื่องฐานทรัพยากรท้องถิ่น ที่หน่วยงาน มหาวิทยาลัยที่ร่วมสนองพระราชดำริ จะได้ช่วยในการศึกษาวิจัย พัฒนาให้เกิดความเป็นมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก จากนั้นการดำเนินที่ผ่านมาเป็นกระบวนการ ก็จะหมุนกลับ มาหวนดูทรัพย์สิ่งสินตน ศักยภาพมากล้นมีให้เห็น ชาวบ้านไทยได้ประโยชน์ ประโยชน์แท้แก่มหาชน หมุนวนเร็วขึ้นๆ เหมือนเครื่องยนต์ไอพ่น  เกิดพลังผลักดันโดยการใช้ทรัพยากรในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต  โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มีแนวคิด และดำเนินการเป็นตัวอย่าง ในพืชอนุรักษ์ 8 พืชได้แก่ ทุเรียน สัก มะเกี๋ยง มะกิ๊ง ตีนฮุ้งดอย น้อยหน่าเครือ ชาเหมี้ยง กล้วยไม้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ขอพระราชทาน ให้ยางนาเป็นพืชอนุรักษ์พืชที่ 9 อีกทั้งคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติยังสนับสนุนงบประมาณการวิจัยในกลุ่มโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในพืชอนุรักษ์ทั้ง 9 พืชแล้ว ยังสนับสนุนการวิจัยในผักอีนูน และเห็ด ที่เป็นตัวอย่างรูปแบบในการศึกษาวิจัย  ในการศึกษาวิจัยที่เป้าหมายที่ชัดเจนในประเด็นความสำคัญที่จะทำการศึกษาวิจัยในพืชหรือชีวภาพเป้าหมาย ทำการศึกษาวิจัยแล้วได้อะไร และนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง  ใครใช้ประโยชน์ การคัดเลือกคณะวิจัยที่มีความพร้อม ความรู้พื้นฐาน ที่จะพัฒนาต่อยอด การมีความพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์วิทยาศาสตร์  ทีมงานและเครือข่าย แผนงานวิจัยดำเนินการไปพร้อมกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากการวิจัยที่เป็นผลประโยชน์แท้ 
          สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้รับพระราชทานพระราชานุญาต เข้าร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาบุคลากร มีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการระดมคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการด้านพันธุศาสตร์ลาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินกิจกรรมในการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้วิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพันธุศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้องแก่สมาชิกและผู้สนใจ สนับสนุนและส่งเสริมการนำความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์ มาประกอบการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและสังคมไทย มีสมาชิกเครือข่ายที่เป็นอาจารย์ทางด้านพันธุศาสตร์ มีการพัฒนาส่งเสริมครูวิทยาศาสตร์ที่สอนวิชาพันธุศาสตร์ ให้เด็กนักเรียนนักศึกษาเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ เพื่อมีบุคลากรในอนาคต ในการอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากร ให้เกิดประโยชน์แท้กับมหาชนชาวไทย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

 
                                           ................................................................
พรชัย จุฑามาศ พ.ศ.2556  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากร ในการประชุมพันธุศาสตร์ก้าวหน้าสู่อาเซียน (Genetics towards ASEAN)  17-19 กรกฎาคม 2556 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ใน Thai J. Genet. 2013, S(1): 1-5

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้