สาส์นจากอดีตนายกสมาคมฯ


"พันธุศาสตร์"

นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ในรัชกาลที่ ๙
อดีตนายกสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทยและ
ที่ปรึกษาสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย

        ด้วยนายกสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทยคนปัจจุบันได้ขอให้ผมเขียนบทความเกี่ยวกับสมาคมฯ ทั้งในอดีตและปัจุบันประมาณ ๑ หน้ากระดาษ เพื่อจัดทำหนังสือประวัติของสมาคมฯ ในฐานะที่ผมเป็นอดีตนายกสมาคมฯ คนหนึ่ง ซึ่งผมก็ยินดี แต่คิดว่าเรื่องที่ผมเขียนจำเป็นจะต้องเกี่ยวกับชีวิตของผมที่เกี่ยวข้องกับพันธุศาสตร์ ดังนั้นจึงอาจจะยาวมากกว่า ๑ หน้ากระดาษเล็กน้อย จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของท่านนายกสมาคมฯ ตามที่เห็นสมควร
๑. ผมศึกษาปริญญาตรีทางการเกษตรที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างปี ๒๔๙๔-๒๔๙๘ ขณะนั้นไม่มีวิชาพันธุศาสตร์ในหลักสูตร เริ่มมีในปี ๒๔๙๘ เป็นต้นไป
๒. ผมเริ่มเรียนวิชาพันธุศาสตร์ (Genetics) และวิชาการปรับปรุงพันธุศาสตร์ (Plant Breeding) พร้อมกันในปี ๒๕๐๑ ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิสซิสซิปปี้ (Mississippi State University) ตามหลักสูตร Master of Agriculture
๓. ได้เรียนวิชาพันธุศาสตร์และวิชาการปรับปรุงพันธุ์พืชอีกครั้งหนึ่ง และทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด” (Maize Breeding) ตามหลักสูตร Master of Sciences ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเนบราสก้า (University of Nebraska) เมื่อปี ๒๕๐๕-๒๕๐๖
๔. เมื่อปี ๒๕๐๖ ได้เริ่มทำงานและเป็นหัวหน้าโครงการข้าวโพดข้าวฟ่าง กรมกสิกรรม กระทรวงเกษตร ทำงานด้าน “พันธุศาสตร์และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด”
๕. เป็นประธานชมรมข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ เป็นสมาชิกตลอดชีพ และเริ่มประชุมครั้งแรก เมื่อมีนาคม ๒๕๑๓ และได้ประชุมต่อมาอีก ๓๖ ครั้ง ครั้งสุดท้ายที่หนองคาย เมื่อ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๖
๖. ได้เป็นสมาชิกชมรมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๒๑ และร่วมประชุมครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๒๑ ต่อมาได้เป็นสมาชิกสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย เมื่อ ๒๕๒๘ และเป็นสมาชิกตลอดชีพ หมายเลข ๐๐๑๑๗๒
๗. ก่อตั้งชมรมและสมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งชาติ สมาชิกตลอดชีพ เลขที่ ๐๑-๔๐๐๐๐๑ ประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ ประชุมครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๕
๘. เป็นนายกสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย คนที่ ๕ ระหว่างปี ๒๕๓๕-๒๕๓๗ สมาคมฯ แบ่งงานออกเป็น ๓ สาขาคือ ๑) พันธุศาสตร์พื้นฐาน ๒) พันธุศาสตร์มนุษย์และ ๓) พันธุศาสตร์เกษตร (พืชและสัตว์)
๙. เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประจำปี ของโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT) ตั้งแต่ครั้งที่ ๑ ถึงครั้งที่ ๑๔ (๒๕๕๐-๒๕๕๓) จึงยุติกิจการ

       เนื่องด้วยผมเรียนทางด้านการเกษตร ทำงานด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยฌฉพาะข้าวโพดมาโดยตลอด ความรู้และประสบการณ์ของผมจึงเน้นทางด้านพันธุศาสตร์ประยุกต์แต่ก็ได้รับความรู้และประสบการณ์ด้านนี้มาตลอดและค่อนข้างกว้างขวาง เป็นการทำงานด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก โดยขอยกขั้นตอนมา ดังนี้
๑. แหล่งพันธุกรรม ในธรรมชาติทั่งโลกและในประเทศไทย เช่น การค้นหา การเก็บรักษา การใช้ประโยชน์ การแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เป็นต้น
๒. การปรับปรุงพันธุ์พืช วิธีการสำหรับพืชชนิดต่างๆ  เช่น ผสมตัวเอง ผสมข้ามพันธุ์ การถ่ายทอดยีน เป็นต้น
๓. การค้าพันธุ์พืช  เช่น ระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ การรักษาเมล็ดพันธุ์ การประชาสัมพันธุ์ เป็นต้น
        ดังนั้น ถึงแม้จะเน้นทางด้านเดียวของพันธุศาสตร์ แต่ก็มีความสำคัญมหาศาลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ และอาชีพของคนไทยจำนวนมาก ผมจึงถือวิชาการพันธุศาสตร์มีความสำคัญต่อชีวิตของผม และพี่น้องที่ร่วมงานและเกี่ยวข้องอยู่เป็นจำนวนมาก ผมต้องขอขอบคุณแก่ครูบาอาจารย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สั่งสอนผมเรื่องนี้ และเพื่อร่วมงานทุกคนที่ช่วยกันทำงานโดยเฉพาะสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทยที่เป็นแหล่งชักจูงผูกพันให้นักพันธุศาสตร์ได้มีความเกี่ยวข้องกัน สอนให้เราได้รู้จักกันและรู้จักความรู้ทางด้านพันธุศาสตร์กว้างขาวงมากยิ่งขึ้น ผมขอขอบคุณพวกเราทุกคนที่ได้ก่อตั้งสมาคมฯ ขึ้นมาและรักษาให้การดำเนินงานของสมาคมฯ ยั่งยืนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันจนถึงทุกวันนี้ และขออวยพรให้กิจการของสมาคพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทยจงเจริญก้าวหน้าต่อไป และก่อประโชน์ให้แก่ประเทศชาติของเราชั่วกาลนาน
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้